ผู้สนับสนุน

วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล









วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล




















      ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำผลึกแคลไซต์ ที่ประกอบด้วยหินในตระกูลคาร์บอเนต ชนิดแอนไฮดรัสคาร์บอเนต ที่มีความใสกาวบริสุทธิ์มีรูปลักษณ์หลากหลายลักษณะ มีรูปผลึกอยู่ในระบบสามแกนราบ ส่วนใหญ่เป็นรูปหกเหลี่ยมยาวยอดแหลมหรือรูปสี่แหลมขนมเปียกปูน มีแนวแตกเรียบที่สมบูรณ์ 3 แนว

เป็นสิ่งที่พบได้ยากในธรรมชาติ เพราะต้องมีองค์ประกอบที่ครบทั้ง หินปูน ไอน้ำร้อนที่ได้จะน้ำพูร้อนธรรมชาติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ไอสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนตที่กลั่นตัวในอุณหภูมิสูงสุดและต้องอิ่มตัวในอุณหภูมิที่ต่ำสุด

       ถ้ำแก้วโกมลได้รับยกย่องว่าเป็นถ้ำที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในถ้ำผลึกแร่แคลไซต์ที่ค้นพบเพียง 3 แห่งทั่วโลก คือพบที่ ประเทศจีน ประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย

       จากการค้นพบด้วยความบังเอิญ เมื่อวิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการตรวจสอบประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ในเขตประทานบัตรเลขที่ 12627/13903 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วี.ซัพพลายส์ (ไทยแลนด์) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536

ทำให้พบถ้ำที่เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ที่มีความบริสุทธิ์อยู่ภายใน โดยไม่พบแร่ฟลูออไรต์ดั่งที่ตั้งใจค้นหา การพัฒนาอุโมงค์เหมืองจึงหยุดลง ระยะแรกของการตรวจพบถ้ำผลึกแคลไซต์ สภาพทางเข้าถ้ำไม่ได้มีความมั่นคงแข็งแรง สุ่มเสี่ยงต่อการพังทลาย
       จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้ปรับปรุงทางเข้าถ้ำใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยทำการระเบิดปากถ้ำให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งฉีดซีเมนต์ก่อโครงเหล็กยึดเพดาน ให้ตัวถ้ำมีความมั่นคง มีการสร้างทางเดินบันไดคอนกรีตภายในถ้ำเพื่อเตรียมความพร้อมไว้อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ติดตั้งโคมไฟสีเพื่อส่องสะท้อนความงดงามของผลึกแคลไซต์ในถ้ำ และจัดทำท่อระบบระบายอากาศวางระบบท่อให้อากาศถ่ายเทอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติของถ้ำมากที่สุด เพื่อให้ภายในถ้ำมีออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับดำเนินการกันเขตพื้นที่รอบถ้ำในรัศมี 200 เมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 51 ไร่ ให้ออกจากพื้นที่ประทานบัตร และตั้งเป็น"วนอุทยานถ้ำแม่ลาน้อย"

       ในปี พ.ศ. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรถ้ำแห่งนี้ พร้อมๆกับได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "แก้วโกมล" นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้พระราชทานนามห้องต่างๆ ใน ถ้ำแก้วโกมลซึ่งมีอยู่ภายในถ้ำ จำนวน 5 ห้องให้อีกด้วย

เริ่มจากห้องแรก "พระทัยธาร"

        
มีที่มาจากการที่น้ำในถ้ำ ละลายกับหินปูนทำให้เกิดภาพน้ำไหลเหมือนเป็นธารน้ำตก พระทัยธารซึ่งเป็นห้องแรกนี้ เป็นห้องที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดอุโมงค์มากที่สุด

สังเกตได้จากเศษหินที่กระจัดกระจายอยู่ภายใน มีโพรงที่จากการทำเหมืองตามสายแร่ฟลูออไรตหินงอก หินย้อยต่างๆได้รับความเสียหายจากการสำรวจไปมาก จึงไม่งดงามมากนัก ความงามของห้องที่ก็คงจะมีเพียงร่องรอยลวดลายสายน้ำตกอันเป็นที่มาของชื่อห้องเท่านั้น

ถัดมาเป็นห้องที่ 2 มีชื่อพระราชทานว่า "วิมานเมฆ"

      ตั้งตามลักษณะของแร่ที่อยู่ตามเพดาน ซึ่งดูคล้ายปุยเมฆเป็น ห้องนี้มีลักษณะเป็นช่องยาว บางช่วงเป็นรูแคบ ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของโพรงน้ำไหลในอดีต ทำให้มีความลำบากในการเดินสำรวจ มีหินงอก หินย้อย และบางจุดมีผลึกแร่แคลไซต์เกาะอยู่แต่มีความงดงามไม่มากนัดเนื่องจาก ผลึกบางส่วนได้แตกหักเสียหายและมีรอยเปื้อนจากการถูกจับต้องระหว่างการเข้าสำรวจ

ลึกเข้าไปเป็นห้องที่ 3 ชื่อพระราชทานว่า "เฉกหิมพานต์"

       เกิดจากจินตนาการขององค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงทอดพระเนตรแล้วเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ตามวรรณคดีไทย ห้องนี้เป็นห้องขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อย สีขาวขุ่นถึงสีน้ำตาล

สำรวจต่อไปจะพบห้องที่ 4 ที่มีชื่อพระราชทานอันเพราะพริ้งว่า "ม่านผาแก้ว"

      
ภายในห้องนี้เราจะเริ่มเห็นความ งดงามที่เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ สีดั่งแก้วใสขาวเกาะอยู่ราวกับม่านเต็มถ้ำ มีทั้งแบบที่คล้ายปะการัง คล้ายเข็ม และเกล็ดน้ำแข็ง ผลึกทั้งสามแบบมีความเปราะบางที่สุด ได้รับผลกระทบจากอากาศภายนอกจนลดน้อยลงไปมาก ส่วนผลึกรูปปะการังเป็นผลึกขนาดเล็กละเอียด จับตัวต่อเนื่องเป็นผืนจนเต็มผนังอย่างสวยงาม พบตอนในสุดของห้อง

และส่วนชั้นในสุดคือห้องที่ 5 มีชื่อพระราชทานว่า "เพริศแพร้วมณีบุปผา"

       
ซึ่งโดดเด่นไปด้วยผลึกแร่มีความละเอียดเป็นรูปเข็มคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง เปราะบาง แตกหักง่าย จัดเป็นผลึกที่ สวยงามและเด่นที่สุดของถ้ำ (เป็นจุดที่ได้รับการโปรโมตจากททท.) ห้องนี้เป็นห้องสุดท้ายโดยพบอยู่ด้านในสุด เป็นห้องที่สวยงามที่สุดของถ้ำ

เนื่องจากมีผลึกแร่แคลไซต์ที่มีความสมบูรณ์เป็นจำนวนมากและมีรูปแบบหลากหลาย โดยเฉพาะผลึกแร่แคลไซต์รูปเข็มและคล้ายปะการัง ห้องนี้นอกจากอยู่ลึกที่สุด สวยงามที่สุดแล้ว อากาศยังน้อยด้วย ไม่ถ่ายเท



        ตามจุดต่างๆของถ้ำ มีการติดตั้งไฟสปอตไลท์ส่องตามจุดต่าง ๆ แต่จะเปิดเฉพาะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความร้อนจากหลอดไฟส่งผลกระทบต่อผลึกแคลไซต์ที่สร้างความงามให้แก่ถ้ำ ถ้ำแก้วโกมลเป็นถ้ำที่สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็นอับของมูลค้างคาว เพราะมีการป้องกันไม่ให้ค้างคาวเข้าไปอาศัยภายในถ้ำ









ถ้ำแก้วโกมล









 


ถ้ำแก้วโกมล ถ้ำแก้วโกมล

ถ้ำแก้วโกมล ถ้ำแก้วโกมล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุน